ชนชาติฮั่น (Han) เป็นประชากรส่วนใหญ่ในประเทศจีน ผลสำรวจจำนวนประชากรในปลายคริสตศตวรรษที่ 20 พบว่า มีชาวฮั่นราว 1,200 ล้านคนอาศัยในประเทศจีน และนับเป็นกลุ่มชนชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วย
มีหลักฐานว่าชาวฮั่นถือกำเนิดมาตั้งแต่สมัยจักรพรรดิหวงตี้ (黄帝) อาศัยอยู่ในแถบดินแดนจงหยวน และกระจายอยู่ทั่วประเทศจีนมายาวนานกว่า 5,000 ปี นับตั้งแต่สมัยเซี่ย ซาง โจว ชุนชิว-จั้นกั๋ว จนมาเริ่มเป็นปึกแผ่นในสมัยฉินและฮั่น สมัยฮั่นนี่เองที่เริ่มมีคำเรียก 'ชนชาติฮั่น' ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่มีความเชื่อตามแบบลัทธิเต๋า
ชาวฮั่นมีกิจกรรมด้านการเกษตรและหัตถกรรมที่เจริญก้าวหน้า อีกทั้งมีการประดิษฐ์เครื่องสำริด การทักทอ เครื่องเคลือบดินเผา สถาปัตยกรรม และศิลปะการวาดภาพที่เป็นหน้าตาของชนชาติมาตั้งแต่ยุคโบราณ นอกจากนี้ ยังรวมถึงผลงานวรรณกรรมรูปแบบต่างๆ ที่เป็นที่ยอมรับไปทั่วด้วย และที่ลืมไม่ได้ก็คือ การเป็นชนกลุ่มแรกของโลกที่ค้นพบและสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ 4 อย่าง คือ กระดาษ เทคนิคการพิมพ์ เข็มทิศ และดินปืน
บุคคลสำคัญเชื้อสายฮั่นในแผ่นดินจีนไม่ว่าจะเป็นนักทฤษฎี นักปฏิวัติ นักการเมือง กวี ศิลปินต่าง ๆ ที่ถูกจารึกนามในหน้าประวัติศาสตร์จีนและของโลกที่เรารู้จักกันดี ได้แก่ ดร.ซุนยัตเซ็น เหมาเจ๋อตง โจวเอินไหล หลิวเส้าฉี จูเต๋อ เติ้งเสี่ยวผิง หลู่ซวิ่น ฯลฯ ล้วนเป็นชาวฮั่นที่สร้างคุณูปการต่อลูกหลานชนชาวฮั่นในวันนี้
และยังรวมถึง ขงจื๊อ ปรัชญาเมธีผู้เรืองนามของจีน. เป็นเวลาเนิ่นนานหลายร้อยปี ที่แนวคิดของขงจื๊อซึ่งเป็นรากฐานคุณธรรมคำสอนของชาวฮั่น ได้แผ่อิทธิพลไปทั่วทวีปเอเชียตะวันออก (East-Asia).
ชาวฮั่นมีวันสำคัญทางประเพณีได้แก่ เทศกาลตรุษจีน เทศกาลหยวนเซียว เช็งเม้ง เทศกาลไหว้พระจันทร์ (จงชิวเจี๋ย) เป็นต้น
ชาวฮั่นมีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเองเรียกว่า ภาษาฮั่น (ฮั่นอี่ว์) มีตัวอักษรเรียกว่า อักษรฮั่น (ฮั่นจื้อ) ซึ่งยังแบ่งเป็นภาษาถิ่นอีกหลายภาษา อาทิ ภาษาถิ่นทางภาคเหนือ (北方话) ภาษากวางตุ้ง (粤语) ภาษาแคะ (客家话) ภาษาถิ่นแถบเซี่ยเหมิน (闽南话) ภาษาถิ่นฮกเกี๊ยน (闽北话) ภาษาถิ่นแถบเซี่ยงไฮ้-เจียงซู-เจ้อเจียง (吴语) ภาษาถิ่นแถบหูหนัน (湘语) และภาษาถิ่นแถบเจียงซี (赣语)