Thursday, July 19, 2007

มาตราตวง

มาตราตวง
โดย...นิทัศน์ จิระอรุณ
จากบทความ "เรื่องของมาตราวัด" ที่ได้เขียนมาแล้ว[1] คราวนี้มาดูเรื่องของมาตราตวงกันบ้าง มาตราวัดที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นเกี่ยวข้องกับความยาว ขนาด ระยะทาง ส่วนมาตราตวงเกี่ยวข้องกับปริมาตร ซึ่งมีหน่วยที่ใช้กับการตวงของเหลว ของแข็ง และวัดปริมาตรของแก๊ส หลายอย่าง
ในทางวิทยาศาสตร์ ในระบบเมตริก หน่วยวัดปริมาตรก็มี ลิตร(litre หรือ liter, อังกฤษใช้ litre อเมริกันใช้ liter) สัญลักษณ์ใช้ l หรือ L (ตัวแอลเล็กหรือตัวแอลใหญ่) หน่วยย่อยลงมาก็มี เดซิลิตร, ดล. (decilitre, dl), เซนติลิตร, ซล. (centilitre, cl), มิลลิลิตร, มล. (millilitre, ml) ซึ่งยังคงใช้กันมากในปัจจุบัน เช่น ระบุราคาน้ำมันเบนซิน ดีเซล แก๊สโซฮอล์ ว่าเป็นลิตรละเท่าไร บอกความจุของน้ำอัดลมในขวดเป็น 1.25 ลิตร, 2 ลิตร บ�! ��กความจุของวิสกี้ เบียร์ ไวน์ ในขวดเป็น l, dl, ml หรือ cl บอกความจุของแชมพูในขวดเป็น ml เป็นต้น
ความสัมพันธ์ของหน่วยเหล่านี้คือ 1 l (1 ลิตร) = 10 dl = 100 cl = 1000 ml
หน่วยที่ใหญ่กว่าลิตรก็มี เช่น เดคาลิตร, ดคล. (decalitre, dal) ซึ่งเท่ากับ 10 ลิตร เฮคโตลิตร (hectolitre, hl) ซึ่งเท่ากับ 100 ลิตร เป็นต้น
เมื่อใช้ระบบ SI (Systeme Internationale) หน่วยปริมาตรถ้าใช้ตามหน่วยหลักของความยาวซึ่งเป็นเมตร ก็จะเป็น ลูกบาศก์เมตร(cubic metre, m^3) เช่น ใช้น้ำประปาไป 12 ลูกบาศก์เมตร(หรือทางประปาเรียกว่าใช้ไป 12 หน่วย) เป็นต้น หน่วยย่อยลงไปที่ใช้มาก คือ ลูกบาศก์เซนติเมตร, ซม^3 หรือ ซี.ซี. (cubic centimetre, cm^3) เช่น เบียร์กระป๋องมีความจุขนาด 330 ซม^3 เป๊บซี่หรือโค้กขนาด 325 ซม^3 แชมพูขนาด 400 ซี.ซี. น้ำปลา 700 ซม^3 เป็นต้น
ความสัมพันธ์ระหว่างลิตรกับหน่วย SI เหล่านี้ คือ 1 l (1 ลิตร) = 1000 cm^3 และ 1 m^3 = 1000 l (1000 ลิตร)
ระบบอังกฤษมี ลูกบาศก์ฟุต (ft^3) ลูกบาศก์นิ้ว (in^3) ซึ่ง 1 ft^3 = 28.317 l(ลิตร) = 28,317 cm^3 = 0.028317 m^3
1 in^3 = 1.6387 x 10^–5 m^3
หน่วยปริมาตรของต่างประเทศที่เราได้ยินกันยังมี แกลลอน(gallon) 1 แกลลอน = 4.546 ลิตร (British Imperial gallon) ส่วนแกลลอนของสหรัฐอเมริกา(U.S. gallon) ไม่เท่ากับของอังกฤษ กล่าวคือ 1 U.S. gallon = 3.785 ลิตร
สำหรับน้ำมันปิโตรเลียม ยังมีการใช้หน่วย บาร์เรล(barrel) โดยที่ 1 บาร์เรลเท่ากับประมาณ 159 ลิตร และ 1 บาร์เรล = 35 แกลลอนอังกฤษ ส่วนในสหรัฐอเมริกา 1 บาร์เรล = 42 แกลลอน
สำหรับการตวงวัดเหล้าในบาร์ ยังมีการใช้ถ้วยตวงที่มีขีดบอกปริมาตรเป็น ออนซ์(onze) ด้วย (ซึ่ง ออนซ์ มีที่ใช้ทั้งในแบบปริมาตรและแบบน้ำหนัก) และมีการใช้หน่วย ควอต(quart) ซึ่ง 1 ควอต = 32 ออนซ์ และ 1 แกลลอน = 4 ควอต
การตวงยา อาหาร และส่วนผสมในการทำอาหาร ยังอาจมีการใช้ หน่วย ช้อน ด้วย เช่น ให้รับประทานยาครั้งละ 1 ช้อนชา, 1 ช้อนโต๊ะ ซึ่ง 1 ช้อนโต๊ะ = 3 ช้อนชา
ในเรื่องการตวงเหล้า การตวงวัดในบาร์ การตวงวัดในเรื่องเกี่ยวกับการปรุงอาหาร ยังมีหน่วยอื่น ๆ บางอย่างด้วย เช่น ไพนท์ (Pint) เพค(Peck) บุเชล(Bushel) ถ้วยตวง(Cup) เป็นต้น และมีความสัมพันธ์กับหน่วยตวงอื่น ๆ เช่น 1 เพค = 8 ควอต 4 เพค = 1 บุเชล 1 ถ้วยตวง = 8 ออนซ์ เป็นต้น
แล้วมาตราตวงของไทยโบราณของเราล่ะ มีอะไรกันบ้าง?
มีการใช้ ทะนาน ถัง ตวงสิ่งของ ซึ่งเรามักจะคุ้นเคยกับเรื่องการตวงของแข็งมากกว่า เช่น เราคงทราบเรื่องการละเล่นของเด็กไทยอย่างหนึ่งที่มีเนื้อร้องตอนเล่น ว่า
ทะนาน เป็นเครื่องตวงอย่างหนึ่ง ทำด้วยกะลามะพร้าว [3] โดยที่ 20 ทะนานเป็น 1 ถัง แล้วยังมี ทะนานหลวง ซึ่งเท่ากับ 1 ลิตรในระบบเมตริก ด้วย
นอกจาก ถัง แล้ว ยังมีอีกคำคือ สัด ซึ่ง สัด ก็เป็นภาชนะสานที่ใช้ตวงข้าว ส่วนถังนั้นสมัยโบราณทำด้วยไม้ คงมีการใช้ ถัง กับ สัด ปน ๆ กัน แต่ถัง กับ สัด มีขนาดไม่เท่ากัน ไม่ควรใช้แทนกัน ดังมีคำกลอนจากนิราศภูเขาทองของสุนทรภู่ [4] ตอนหนึ่ง ซึ่งนำคำ ถัง กับ สัด ไปเปรียบเทียบกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ไม่ยุติธรรม ว่า
" จะยกหยิบธิบดีเป็นที่ตั้ง ก็ใช้ถังแทนสัดเห็นขัดขวาง
จึ่งจำลาอาวาสนิราศร้าง มาอ้างว้างวิญญาณ์ในสาคร"
มีข้อมูลระบุว่า สัดใช้ตวงข้าวเปลือก และ 1 สัด เท่ากับ 25 ทะนาน ส่วนถังใช้ตวงข้าวสาร และ 1 ถังเท่ากับ 20 ทะนาน และ ข้าวสาร 100 ถัง เท่ากับ 1 เกวียน [5]
ยังมีหน่วยโบราณอื่น ๆ ที่มีขนาดน้อยกว่า ทะนาน เป็นการวัดโดยประมาณ เช่น
4 กำมือ (มุฏฐิ) = 1 ฟายมือ (กุฑวะ)
2 ฟายมือ = 1 กอบ (ปัตถะ)
2 กอบ = 1 ทะนาน (นาฬี หรือ นาลี) เป็นต้น [6]
ขนาด "ฟายมือ" คือ เต็มอุ้งมือ หรือ เต็มฝ่ามือที่ห่อเข้าไป
จะเห็นว่า หน่วยสำหรับการตวงก็มีมากพอสมควร ก็ขอจบเรื่องราวของมาตราตวงแต่เพียงเท่านี้

หนังสืออ้างอิง
[1] นิทัศน์ จิระอรุณ, "เรื่องของมาตราวัด", ข่าวสารคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ปีที่ 11 ฉบับที่ 52, ต.ค. – ธ.ค. 2547, หน้า 1 - 4
[2] ผะอบ โปษะกฤษณะ, "การละเล่นของไทย", สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ฉบับอิเล็กทรอนิกส์, โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ , 2545
[3] ราชบัณฑิตสถาน, "พจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2493" , พิมพ์ครั้งที่ 4, 2503
[4] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, "ชีวิตและงานของสุนทรภู่", พิมพ์ครั้งที่ 10, สำนักพิมพ์เสริมวิทย์บรรณาคาร, 2518
[5] ราชบัณฑิตสถาน, "สารานุกรมไทย เล่ม 13" , พิมพ์ครั้งที่ 2, บริษัทรุ่งศิลป์การพิมพ์, 2524, หน้า 8470 - 8478
หมายเหตุ ดูบทความเรื่อง มาตราตวง ที่เป็นไฟล์ pdf ได้ในเว็บไซต์นี้ เช่นกัน